top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPhitsanulok Bettagroup

วัดตระพังเงิน


วัดตระพังเงิน

ที่ตั้ง

ตั้งอยู่ทางตะวันตกของวัดมหาธาตุมีระยะห่างประมาณ 300 เมตร โบราณสถานแห่งนี้ไม่มีกำแพงแก้ว ประกอบด้วยเจดีย์ประธาน วิหาร และโบสถ์กลางน้ำ สิ่งก่อสร้างสำคัญของวัดนี้ ประกอบ ด้วย เจดีย์ประธาน เป็น เจดีย์ทรงดอกบัวตูม โดยมีวิหารประกอบอยู่ด้านหน้า ลักษณะที่เด่นของเจดีย์ทรงดอกบัวตูมของวัดนี้ คือ มี ซุ้มจระนำที่เรือนธาตุทั้งสี่ด้านสำหรับประดิษฐานพระพุทธ รูปยืนและลีลา ซึ่งแตกต่างไปจากเจดีย์ทรงดอกบัวตูมในที่อื่นๆ ด้านตะวันออกของเจดีย์ เป็นเกาะมีโบสถ์ตั้งอยู่กลางน้ำตามคติ อุทกสีมา หรือ นทีสีมา คือการใช้น้ำเป็นสีมาของโบสถ์ หรือเขต สังฆกรรมของโบสถ์ เช่นเดียวกับวัดสระศรี โบสถ์นี้ตั้งอยู่ในสระน้ำที่มีชื่อว่า ตระพังเงิน

ประวัติ

ไม่ปรากฏหลักฐานชื่อวัดตระพังเงินในศิลาจารึก พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช) เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” เมื่อปีพุทธศักราช 2451 มีข้อความกล่าวถึงตระพังเงินไว้ว่า “ที่ริมวัดมหาธาตุทางด้านทิศตะวันออก มีที่ดินว่างเปล่าอยู่แปลงหนึ่ง เป็นรูปสี่เหลี่ยมรีทางด้านเหนือกับด้านใต้ มีเนินดินและมีคูต่อไปประจบกันคูวัดมหาธาตุเป็นอันเดียวกัน ด้านตะวันตกที่ติดกับวัดมหาธาตุนั้น มีกำแพงแต่ไม่มีคู คูด้านเหนือและใต้นั้นยาวต่อไปจนจดคูด้านตะวันตก เข้าใจว่าน้ำในตระพังทองด้านตะวันออกกับตระพังด้านตะวันตก จะมีทางไขให้เดินเข้าคูวัดกับที่แปลงต่อนั้นได้ตลอด”

คำว่า “ตระพัง” หมายถึง สระน้ำ หรือหนองน้ำ โบราณสถานนี้ไม่มีกำแพงแก้ว ประกอบด้วยเจดีย์ทรงดอกบัวตูมเป็นประธาน ลักษณะเด่นของเจดีย์ทรงดอกบัวตูม คือ มีจระนำที่เรือนธาตุทั้งสี่ด้านประดิษฐานพระพุทธรูปยืน และพระพุทธรูปปางลีลา (จระนำ หมายถึง ชื่อซุ้มท้ายวิหาร หรือท้ายโบสถ์ มักเป็นช่องตัน) วิหารประกอบอยู่ด้านหน้า และทางด้านตะวันออกของเจดีย์เป็นเกาะมีโบสถ์ตั้งอยู่กลางน้ำ

รูปแบบสถาปัตยกรรม

วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีคูน้ำล้อมรอบวัด ขนาดกว้างประมาณ 10 เมตรล้อมพื้นที่ขนาดกว้างยาวประมาณด้านละ 100 เมตร เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือเรียกว่าทรงดอกบัวตูม ตั้งบนฐานสูงซ้อนกันชั้น บริเวณเรือนธาตุของเจดีย์มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนทั้ง 4 ทิศ ขนาดฐานเจดีย์กว้างด้านละ 10.50 เมตร รูปแบบแผนผังเจดีย์ คล้ายกับแผนผังเจดีย์ประธานวัดมหาธาตุ ด้านหน้าเจดีย์ประธานทางด้านทิศตะวันออกเป็นวิหาร ขนาด 7 ห้อง ฐานกว้างประมาณ 12 เมตร ยาวประมาณ 20 เมตร ฐานและเสาก่อด้วยศิลาแลง

พระอุโบสถ ตั้งอยู่บริเวณเกาะกลางตระพังเงิน มีขนาดกว้าง 11 เมตร ยาว 19 เมตร มีเสมาหินปักรอบทั้งแปดทิศ ด้านทิศตะวันออกของโบสถ์มีฐานเจดีย์รายขนาดเล็ก 1 ฐาน ทางด้านทิศตะวันตกของโบสถ์มีบ่อน้ำ 1 บ่อ

จากการขุดแต่งโบราณสถานโดยกรมศิลปากร วัดนี้พบโบราณวัตถุที่สำคัญ ประกอบด้วย เครื่องสังคโลก ของใช้ของคนโบราณ

 

 

คลิกเพื่อดูภาพ 360 องศา

 

 


ดู 1,571 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page