top of page
ค้นหา
sanama

พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง

อัปเดตเมื่อ 13 ก.ค. 2563


พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 ลักษณะพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดงรมดำ ขนาด 2 เท่าขององค์จริง สูง 3 เมตร น้ำหนักประมาณ 3 ตัน ประทับนั่งห้อยพระบาทบนแท่นมนังคศิลาอาสน์ ขนาดเท่าพระแท่นจริงยาว 4 เมตร กว้าง 2.88 เมตร ลักษณะพระพักตร์อย่างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยตอนต้น ถ่ายทอดความรู้สึกที่แสดงว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงมีน้ำพระทัยเมตตากรุณา ยุติธรรม และมีความเด็ดขาดในการปกครองแบบพ่อปกครองลูก เครื่องฉลองพระองค์และศิราภรณ์ยึดถือลักษณะจากเทวรูปของศิลปสมัยสุโขทัย พระหัตถ์ขวาทรงถือสมุดไทยอันหมายถึงสรรพวิทยาการต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงรอบรู้ พระหัตถ์ซ้ายแสดงลักษณะทรงสั่งสอนพสกนิกรหรือขณะออกว่าราชการ พระแท่นด้านซ้ายมีพานวางพระขรรค์ไว้ข้าง ๆ ที่ด้านข้างมีภาพแผ่นจำหลักจารึกเหตุการณ์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของ พระองค์ตามที่อ้างถึงในจารึกสุโขทัย ผู้ปั้นหุ่นพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ นายสนั่น ศิลากรณ์ นายช่างเอกของกรมศิลปากรซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีฝีมือเป็นเยี่ยมและ เป็นศิษย์ของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร

ประวัติการก่อสร้าง

เมื่อวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ณ จังหวัดสุโขทัย ในโอกาสนี้ได้ทรงประกอบพิธีบวงสรวงสังเวย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ วัดศรีชุมด้วย ในครั้งนั้นปรากฏว่าประชาชนได้เรียกร้องให้ทางราชการดำเนินการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยให้เหตุผลว่า พระบรมราชานุสาวรีย์ของมหาราชพระองค์อื่นได้สร้างครบถ้วนทุกพระองค์แล้ว ยกเว้นแต่พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ดังนั้นจังหวัดสุโขทัยจึงได้ริเริ่มดำเนินการนำเสนอความเห็นมายังกระทรวงมหาดไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาลงมติรับหลักการ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พุทธศักราช 2507และได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นโดยกรมศิลปากรรับผิดชอบการออกแบบและการหล่อพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ต่อมาในปีพ.ศ. 2520 กรมศิลปากรได้ดำเนินการโครงอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ได้ปรับปรุงพื้นที่ให้มีความกลมกลืนกับสภาพของโครงการ บริเวณที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราชจึงเป็นภูมิทัศน์

ที่งดงามยิ่ง

พิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐาน พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512 และเมื่องานออกแบบพระบรมรูปและปั้นหุ่นดินเสร็จพร้อมที่จะหล่อได้แล้ว คณะกรรมการดำเนินการ ก่อสร้างฯ ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระบรมรูป ณ มณฑลพิธี กองหัตถศิลป กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2513

เมื่อกรมศิลปากรปั้นหล่อพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชและภาพจำหลักนูนแสดงเหตุการณ์ใน รัชสมัยเรียบร้อยแล้ว จังหวัดสุโขทัยมีความประสงค์จะอัญเชิญพระบรมรูปไปประดิษฐาน ณ ปะรำพิธีบริเวณเนินปราสาท อำเภอเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัยเพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชาในระหว่างที่ยังมิได้ประกอบพิธีเปิด ซึ่งขณะนั้นเป็นระยะที่กำลังดำเนินการก่อสร้างแท่นฐานและจัดผังบริเวณ โดยได้ก่อสร้างปะรำเพื่อประดิษฐานพระบรมรูปชั่วคราว จังหวัดสุโขทัยได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมรูปจากกองหัตถศิลป กรมศิลปากร เทื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2518 พระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ประดิษฐานอยู่ที่ปะรำพิธี ณ เนินปราสาทเป็นเวลา 1 ปี งานก่อสร้างแท่นฐานจึงเสร็จเรียบร้อย จากนั้นจังหวัดสุโขทัยจึงได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมรูปจากเนินปราสาท ไปประดิษฐานยังแท่นฐานปัจจุบันเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2519และจัดให้มีมหรสพฉลองสมโภชด้วย

 

 

 

 

ดู 610 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page