top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPhitsanulok Bettagroup

วัดมหาธาตุ


วัดมหาธาตุ สุโขทัย

ที่ตั้ง

ตั้งอยู่กลางเมืองสุโขทัย เป็นวัดที่มีความสำคัญที่สุดของเมือง และของราชสำนัก ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของเมือง ดังนั้นกษัตริย์ทุกพระองค์ต้องทำนุบำรุง บูรณะปฏิสังขรณ์ ก่อสร้างวัดนี้ให้ยิ่งใหญ่ สวยงามอยู่เสมอ ภายในวัดจึงปรากฏหลักฐานการก่อสร้าง ซ้อนทับกันหลายครั้ง หลายยุคสมัยด้วยกัน และมีสถาปัตยกรรมทั้งประเภทอาคาร และประเภทสถูป-เจดีย์ อยู่ภายในวัดจำนวนมาก (ประมาณ 200 กว่าหลัง)

วัดมหาธาตุนี้อาจมีมาก่อนพ่อขุนศรีอินทราทิตย์จะเข้าครองเมือง เห็นได้จากเจดีย์ ประธานได้มีการต่อเติมขึ้นภายหลัง แต่เติมอาจเป็นปรางค์ประธานเนื่องจากปรางค์ทิศเก่ายังเชื่อมติดเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อยู่ ส่วนเจดีย์มุมอีก 4 องค์นั้น ศิลาจารึกได้กล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อครั้งปฏิสังขรณ์ในสมัยพระเจ้าลิไท

 
 

ประวัติ

วัดมหาธาตุเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนต้นศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง พุทธศักราช 1835 (หลักที่ 1 ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 23-26) ได้กล่าวไว้ว่า “กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารศ มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ พระพุทธรูปอันราม” ที่วัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัยนี้จะพบว่ามีพระเจดีย์มหาธาตุเป็นเจดีย์ประธานของวัด และยังมีปรางค์เจดีย์อื่นๆ อีกมากมาย

ภายในวิหารหลวง ทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดแบบสุโขทัย หน้าตักกว้าง 6.25 เมตร

พระมหาธรรมราชาลิไทโปรดฯให้หล่อขึ้นและทำการฉลองในปี พ.ศ. 1904 มีความบางตอนจากศิลาจารึกกล่าวถึงพระพุทธรูปองค์นี้ด้วยเช่นกัน จากศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาไทย หลักที่ 1 พุทธศักราช 1940 (หลักที่ 5 ด้านที่ 3 บรรทัดที่ 8-13) กล่าวไว้ว่า “เมื่อแล้วออกพรรษา

จึงกระทำมหาทานฉลองพระสัมฤทธิ์อันหล…ตนพระพุทธเจ้าเราอันประดิษฐานกลางเมืองสุโขทัย ซึ่งลวงตะวันออกพระศรีรัตนมหาธาตุนั้น

ฉลองดับธรรมทุกวัน ถ้วนร้อยวัน”

ยังมีข้อความบางตอนบันทึกไว้ในจารึกกรุงสุโขทัยกล่าวถึงเชิงประวัติโบราณสถานแห่งนี้อีก จากศิลาจารึกวัดศรีชุม ประมาณพุทธศักราช 1884-1910 (หลักที่ 2 ด้าน 2 บรรทัดที่ 21-35) ความว่า

“พระศรีราชาจุฬามุนีเป็นเจ้าพยายามให้แผ้วแล้วจึงก่ออิฐขึ้นเจ็ดวา สทายปูนแล้วบริบวรณพระธาตุหลวงก่อใหม่เก่าด้วยสูงได้ร้อยสองวาขอมเรียกพระธมนั้นแล๐ สถิตครึ่งกลางนครพระกฤษณ์๐ เมื่อจักสทายปูนในกลางป่านั้นหาปูนยากหนักหนา หาปูนมิได้ พระศรีราชจุฬามุนีเป็นเจ้า จึงอธิฐานว่าดังนี้…กูแลยังจักได้ตรัสแก่สรรเพญุเดญาณเป็นพระพุทธจริงว่าไซร์ จงให้พบปูน ครั้นกูอธิฐานบัดแมงแห่งหั้นดายกลายพบโป่งปูน อนึ่งทายาดหนักหนา เอามาสทายพระธาตุ ก่อใหม่เก่าแล้วเอามาต่อพระพุทธรูปหินอันหักอันพังบริบวรณแล้ว ปูนก็ยังเหลือเลย๐ พระมหาธาตุหลวงนั้นกระทำปาฏิหารอัศจรรย์หนักหนา และพระธาตุอันใหญ่ล้อมหลายแก่กม๐ ก่อทั้งมหาพิหารใหญ่ด้วยอิฐอันเสร็จบริบวรณแล้ว จึงไปสีบค้นหาเอาพระพุทธรูปหินเก่าแก่แต่บูราด้วยไกล ชั่วสองสามคืน เอามาประดิษฐานไว้ในมหาพิหารลางแห่งได้คอได้ตน ลางแห่งได้ผมได้แขนได้อก ลางแห่งได้หัวตกไกล แลสี่คนหาม เอามาจึงได้๐ ลางแห่งได้แข้งได้ขา ลางแห่งได้มือได้ตีนย่อมพระหินอันใหญ่ ชักมาด้วยล้อด้วยเกวียน เข็นเข้าในมหาพิหารเอามาต่อติดประกิตด้วยปูนมีรูปโฉมพรรณอันงามพิจิตรดังอินนิรมิตเอามาประกิตชนเป็นตนพระพุทธรูป อันใหญ่ อันถ่าว อันราม งามหนักหนา เอามาไว้เต็มในมหาพิหารเรียงหลายถ่อง ช่องงามหนักหนาแก่กม…”

วัดมหาธาตุเป็นวัดที่สำคัญและเป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองสุโขทัย ดังนั้นจึงเป็นจุดศูนย์รวมทั้งงานด้านศิลปกรรมและสถาปัตยากรรมในสมัยสุโขทัยที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ในบริเวณวัดมหาธาตุนี้ ได้พบจารึกจำนวน 3 หลักด้วยกัน จารึกหลักแรกคือ ศิลาจารึกปู่ขุนจิดขุนจอด พุทธศักราช 1935 อักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย พบบริเวณริมเสาเบี้องขวาหน้าวิหารหลวง ด้านหลังวิหารสูง วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย หลักที่สองคือ ศิลาจารึกเจดีย์น้อย พุทธศตวรรษที่ 20-21 อักษรไทยสุโขทัย-ขอมสุโขทัย ภาษาไทย-สันสกฤต พบที่เจดีย์น้อย ด้นหน้าเจดีย์ 5 ยอด วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย และหลักที่สามคือ จารึกลานทองสมเด็จพระมหาเถรจุฑามุนี พุทธศักราช 1919 อักษรไทยสุโขทัย-ธรรมล้านนาภาษาไทย-บาลี พบบริเวณฐานพระประธานในพระอุโบสถ วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

 

 

รูปแบบสถาปัตยากรรม

วัดมหาธาตุ สุโขทัย มีพื้นทีบริเวณวัดรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีขนาดกว้างประมาณด้านละ 200 เมตร ล้อมรอบด้วยกำแพงก่ออิฐ และทั้งหมดล้อมรอบด้วยคูน้ำอีกชั้นหนึ่ง วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แนวแกนประธานของวัดแบบแนวแกนเดี่ยว คือ แนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก

มีเจดีย์ประธานของวัดเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรืออาจเรียกว่าเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ตั้งอยู่ศูนย์กลางของแผนผังวัดและเป็นหลักประธานของแนวแกน เจดีย์ประธานฐานก่อด้วยศิลาแลงเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป 3 ชั้น ฐานชั้นล่างกว้างยาวด้านละประมาณ 27 เมตรประดับด้วยลวดลายปูนปั้นรูปพระสาวกพนมมือเดินเวียนขวา บนฐานอันเดียวกันโดยรอบมีปรางค์ 4 ทิศองค์ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของเจดีย์ประธานทั้ง 4 ทิศ บริเวณเรือนธาตุทำซุ้มคูหาทั้ง 4 ด้าน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ปางยืน หรือเดิน ซุ้มคูหาปั้นปูนลวดลายมังกรคาบและบริเวณมุมทั้ง 4 มุมรอบเจดีย์ประธานมีเจดีย์ทรงปราสาทแบบศรีวิชัยผสมลังกา 4 องค์ตั้งอยู่เป็นบริวารของเจดีย์ประธาน ยอดก่ออิฐเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ด้านหน้าเจดีย์ประธานหรือทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธานในแนวแกนเดียวกันเป็นที่ตั้งของวิหารพระศรีสากยมุณีเป็นวิหารขนาดใหญ่ขนาดยาว 11 ห้อง ฐานก่อด้วยอิฐ เสาศิลาแลงกลม ด้านหน้าวิหารสากยมุณีมีวิหารอีกหนึ่งหลัง ฐานก่ออิญยกพื้นสูง เป็นอาคารที่สร้างขึ้นโดยราชสำนักกรุงศรีอยุธยา

หลังชุดเจดีย์ประธานเป็นมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปยืน หรือพระอัฎฐารศ ขนาบเจดีย์ประธานทั้งทางด้านทิศเหนือและทิศใต้

พระอุโบสถของวัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของชุดเจดีย์ประธาน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 14 เมตร ยาวประมาณ 25 เมตร ก่อด้วยอิฐเสาศิลาแลงฉาบปูน

จากการขุดแต่งโบราณสถานโดยกรมศิลปากร วัดนี้พบโบราณวัตถุที่สำคัญประกอบด้วย ศิลาจารึก พระพุทธรูปสำริด พระพิมพ์ดินเผา แก้วผนึก และเครื่องสังคโลก

 

 

 

คลิกที่รูปภาพ เพื่อดูภาพ 360 องศา

 

 


ดู 4,218 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page